ปัจจุบันต้องยอมรับว่าบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ทำให้หน่วยงานนี้ถูกจับตามองจากทุกภาคส่วน
จากบทบาท พี่เลี้ยง สำนักงาน ก.พ.ดูแลคนของภาครัฐและหน่วยราชการ หลายแสนคน ล่าสุด มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ “เบญจวรรณ สร่างนิทร” เลขาธิการ ก.พ. ในประเด็นสำคัญ หลายประเด็น ดังนี้
ปัจจุบัน ข้าราชการถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่ง มีมากน้อยแค่ไหน ?
เราพูดไม่ได้ว่า มาก หรือ น้อย แค่ไหน เพราะไม่มีตัวเลขข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ปัญหาว่า ถ้าล้มละลายแล้วขาดคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการ ปัญหานี้ ในช่วงที่เขียนเรื่องคุณสมบัติทั่วไปสำหรับคนที่เป็นราชการ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันมากว่า ควรจะใส่รายละเอียดว่าอย่างไร เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็เห็นด้วยให้ใส่ไว้ แต่ถ้าจะถามว่าวันนี้ตัวเลขข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายมีจำนวนมากหรือน้อย เท่าไร ไม่รู้เพราะทางสำนักงาน ก.พ.ไม่เคยมีการเก็บตัวเลขตรงนี้
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้าราชการคนไหน ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะไม่มีการตรวจสอบไม่มีข้อมูล
จริงๆแล้วต้องมาบอก แต่ถ้าสมมติว่า นาย ก. ล้มละลายแล้ว ปกปิด ก็ปิดไม่มีมิดหรอก เพราะการทำงานทุกวันนี้ทุกคนก็จ้องเรื่อยขาเก้าอี้กันทั้งนั้น
สิ้นปี 2553 มีข้าราชการเกษียณอายุเท่าไหร่
จากการเก็บสถิติทุกปีตัวเลขข้าราชการเกษียณอายุจะอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 คนไม่หนีกันเท่าไหร่ อย่างปีที่ผ่านมามีข้าราชการเกษียณอายุทั้งหมด 3,300 คน ทำให้สามารถรับคนใหม่เพิ่มเข้าในหน่วยราชการอีก 3,000 กว่าคนเพราะวันนี้อัตราข้าราชการที่เกษียณอายุไม่ได้ถูกยุบไปด้วยแต่จะรับ ใหม่ทดแทนแล้วจัดสรรให้กับหน่วยราชการที่มีความต้องการบุคลากร
หากมองไปข้างหน้า ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เยอะขึ้น ตรงนี้กระทบกับระบบราชการไหม
เรื่องโครงสร้างอายุ ทางก.พ.ได้ทำการสำรวจข้อมูลเหมือนกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในหน่วยราชการหลายแห่งมีผู้สูงวัยอยู่เยอะมาก ข้อมูลรายกระทรวงที่เก็บได้ พบว่ากระทรวงสาธารณะสุขเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีคนสูงวัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อายุเฉลี่ยน้อยกว่าหน่วยงานรัฐอื่น เมื่อไปดูในรายละเอียดพบว่า เป็นผลมาจากกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์และพยาบาลที่ถูกบังคับให้รับราชการเพื่อ ใช้ทุนจึงดึงอายุเฉลี่ยของข้าราชการในกระทรวงให้ต่ำลง
ข้อมูลที่ได้จึงไม่สามารถบ่งชี้สถานะที่แท้จริงในเรื่องอายุของข้า ราชการได้ ก.พ.จึงได้เจาะลึกไปในส่วนของกรม คราวนี้เจอ 14 กรมที่มีดาวแดงในเรื่องกลุ่มผู้สูงอายุอยู่เยอะ
พอเอาเรื่องเข้าที่ประชุมก.พ.ก็มีคนอยากเห็น เรื่องนี้นำไปสู่การปฏิบัติ จึงได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการใน 14 กรมดาวแดงมาหารือ ซึ่งถ้าจะเอาจริงทั้ง 14 กรมเลยคงต้องใช้กำลังมาก และต้องใช้เวลานาน ในเบื้องต้นจึงขอแค่ 3 กรมที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการหาวิธีการรองรับกับผู้สูงวัยที่กำลังจะไป
กรมนำร่อง ก็มี กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมการค้าภายใน
อีกโครงการหนึ่งที่ สำนักงานก.พ.ทำมาตั้งแต่ปี 2552 จะไปสิ้นสุดโครงการในปี 2555 คือ โครงการเออร์ลี่รีไทร์ เพื่อดึงโครงสร้างอายุของข้าราชการให้ลดลง ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการไปสองปีแล้ว มีข้าราชการเข้าร่วมโครงการประมาณ 10,000 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการครูที่สนใจเข้าร่วมโครงการกันเยอะ
ในขณะที่ระบบราชการพยายามกระชับพื้นที่ ไม่ให้มีการขยายตัวมากนัก แต่ปรากฏว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีองค์การมหาชน พิเศษ เกือบ 60 แห่ง จะสวนทางกันไหม ?
ตรงนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดกันเยอะเหมือนกัน วันนี้จำนวนราชการคุมอยู่แต่พอไปออกหน่วยงานอื่นในรูปขององค์การมหาชนรัฐก็ ต้องมีระบบที่ไปกำกับติดตามการทำงานที่ชัดเจน
ที่สำคัญต้องตอบคำถาม ประชาชนให้ได้ว่า ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกี่ประเภทแน่ แล้วประเภทไหนใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ ประเภทไหนมีผลผลิตให้ประเทศชัดเจนแค่ไหน
องค์การมหาชน ที่ผุดเป็นดอกเห็ด ถือเป็นการสร้างอาณาจักรใหม่ ไม่รู้จบ
มันไม่ใช่อาณาจักรใหม่ วันนี้เราต้องยอมรับว่า โลกไม่ได้อยู่กับที่ โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราก้าวไม่ทันในบางเรื่อง เราก็ล้าสมัย
วันก่อนตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปศูนย์ซินโครตรอนที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ศูนย์ซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ญี่ปุ่น อันดับสองอยู่อเมริกา อันดับสี่อยู่นครเซี่ยงไฮ้ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาช่วงของแสงที่มีจุดโฟกัสที่ ตัวเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นทำให้สามารถเห็นโครงสร้างของเชื้อโรค แล้วบอกได้ว่าเชื้อโรคแต่ละชนิดประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งประโยชน์ที่ได้มหาศาล
ดังนั้นถ้าคนอื่นเขาไปแล้วเรายังทำเหมือนเดิม ก็หมายความว่าเราล้าสมัย เพราะวิทยาการทั้งหลายมันเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา องค์กรใหม่ๆ สำหรับประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพียงแต่ว่าต้องทำบทบาทให้มีประสิทธิภาพมีศักยภาพ แล้วตอบคำตอบประชาชนให้ได้ว่า งานที่หน่วยงานพิเศษเหล่านี้ทำคุ้มค่ากับภาษีราษฏรหรือไม่
ทิศทางการพัฒนาคนของภาครัฐนับจากนี้ไป 3 ปี 5 ปีจะเป็นอย่างไร
เรื่องการพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆตั้งแต่การเตรียมกำลังคน การให้ความสำคัญกับกลุ่มกำลังคนบางประเภท เช่น ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์สูง กลุ่มคลื่นลูกใหม่ของระบบ ยังไม่รวมกลุ่มคนเก่ง(Talent)ที่ต้องดูแล
ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการออกแนวปฏิบัติในเรื่องมาตรฐานสมรรถนะของข้าราชการทั้งระบบ ทุกเก้าอี้มีรายเอียดหมด โดยข้าราชการ 381,000 คน จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ บริหาร อำนวยการ วิชาการ ทั่วไป และแต่ละประเภทจะมีมาตรฐานกำหนดตำแหน่งซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายในการกำหนด คุณสมบัติต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิชาการจะต้องมีความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรรถนะเรื่องอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้
ในเรื่องสมรรถนะหลักก็จะมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน การทำงานเป็นทีม เอาเป็นว่าถ้าจำแนกลงไปในรายละเอียดแล้วคนเหล่านี้ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ ความสามารถหรือสมรรถนะด้านใดก็ตาม บทบาทสำคัญของส่วนราชการคือต้องพัฒนาคนให้ได้มาตรฐานที่กำหนดก็มหาศาลแล้ว ยังไม่พูดถึงการพัฒนาบุคลากรให้เหนือมาตรฐาน
ส่วนการเตรียมคนเพื่อที่จะก้าวเป็นผู้บริหารลำดับถัดไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเริ่มสร้างให้ทัน
หน่วยราชการต่างๆต้องคิดแล้วว่าจะสร้างคนอย่างไร ตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเข้ามารับราชการหรือเปล่า ถ้าใครที่มีศักยภาพที่ดีระบบใหม่เปิดให้สร้างคนเก่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้ บริหารได้ ไม่ใช่ว่าใครเกิดตรงไหนต้องตายตรงนั้น
ทุกสายงานต้องมีความก้าวหน้าในอาชีพให้กับข้าราชการทุกคน และต้องสร้างระบบให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานกันได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้พัฒนาความสามารถเรียนรู้งานใหม่ๆในส่วนงาน อื่นๆ นอกจากภารกิจงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนั้นหน่วยราชการต้องโฟกัสไปเลยว่า ข้าราชการแต่ละคนจะต้องพัฒนาตรงไหน ถ้าทุกหน่วยงานตระหนักถึงการยกระดับบุคลากรภาครัฐให้ได้มาตรฐาน ผลผลิตของภาครัฐก็น่าจะตอบสนองกับความพึงพอใจของประชาชนทั้งประเทศไทย
และสิ่งเหล่านี้คือพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ที่พลิกระบบการบริหารจัดการด้านบุคลากรที่หลากหลายมากขึ้น
...................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น