ดอกไม้จะบาน

Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คนรากหญ้ามีเสียงในสังคมจริงหรื...

คนรากหญ้ามีเสียงในสังคมจริงหรือ?
avatar
จ๋า


คนรากหญ้ามีเสียงในสังคมจริงหรือ?

วันนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในหัวข้อ เรื่อง การประชุมเสวนาทิศทางการแก้ไขปัญหาคนขอทานในสังคมไทยที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ของสำนักบริการสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นการประชุมเสวนาเพียงครึ่งวันเท่านั้น เป็นที่น่าเศร้าใจมากที่ในการประชุมเสวนาในครั้งนี้เกี่ยวกับ พรบ.ขอทานนั้น พบว่ารัฐก็ยังมีการทำงานในรูปแบบ เดิม ๆ ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนเจ้าของปัญหาโดยแท้จริง ทำร่าง พรบ.ออกมาก่อนแล้วถึงมาจัดเวทีเสวนา แต่ก่อนหน้านั้นไม่ได้ฟังเสียงเจ้าของปัญหาหรือคนที่เกี่ยวข้องด้วยแท้จริง จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยแท้จริง ทั้งในความเป็นจริงนั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา 57 ที่ ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิที่ได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือ ราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสีย สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่นและมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนิน งาน

ซึ่ง ในการประชุมเสวนาในครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า การทำงานของภาครัฐยังเหมือนเดิม ร่างพรบ.โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายโดยแท้จริง เพียงแต่ร่างเสร็จแล้วค่อยมาเปิดเวทีให้คนแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญว่าได้ปฏิบัติได้เหมาะสมตามที่รัฐธรรมนูญเขียน ไว้หรือไม่ สุดท้ายพรบ. ขอทานนี้ก็มาย้อนพันกับปัญหาและไม่สามารถแก้ได้อย่างแท้จริง

ใน ที่นี้ขอย้อนกลับไปดูกันไหมครับว่า "ผู้แทน" หรือ "ผู้แทนราษฎร" ของเราเหล่านี้ เคยได้มีกระทู้ถามในสภากันอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีของคนขอทาน เร่ร่อน จรจัด ไร้บ้าน ไร้ที่พึ่งกันอย่างไร

เพราะเหตุว่า กระทู้ถามในสภาฯนั้น ได้แก่ คำถามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก ถามถึงนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องใดๆ กระทู้ถามเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สมาชิกรัฐสภา (คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา) ใช้เพื่อตรวจสอบและควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

เพราะเหตุว่าการตั้งกระทู้ถาม อาจสะท้อนได้ถึงความสนใจของผู้ถาม ท่าทีของผู้ถาม น้ำเสียงของถ้อยคำที่ถามว่าเป็นอย่างไร
ผมยังเชื่อของผมอยู่เองว่า ในหลายกรณี คำถามอาจสำคัญกว่าคำตอบ
เพราะถ้าตั้งโจทย์ผิด คำตอบก็ย่อมจะผิด
คำตอบผิด แนวปฏิบัติก็ย่อมจะผิดตามไปด้วย
บางที การตั้งโจทย์อาจจะยากกว่าการหาคำตอบ
บางที การตอบที่อ้างกันว่าเป็นการตอบโจทย์ อาจเป็นได้แค่การตอบคำตอบ (ที่อยากตอบ)


มาลองดูกันสัก ๕ กระทู้
เริ่มจาก พ.ศ. ๒๔๘๒, ๒๔๘๕, ๒๔๘๗, ๒๕๔๓ และ ๒๕๕๑
เรามาดูความสนใจ ท่าที และน้ำเสียงของถ้อยคำที่ถามกันว่าจะเป็นอย่างไร
เรามาดูกันว่ายุคสมัยที่แตกต่างไกลกันขนาดนั้น คำถามในปัญหาเดิม ได้เปลี่ยน ได้แปลกไปหรือไม่
- -
กระทู้ถามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒

กระทู้ถามที่ ๘๒/๒๔๘๒
เรื่อง การควบคุมคนขอทาน

คน ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่พอใจที่จะทำงานหาเลี้ยงชีพ ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลช่วยกรุณาหาให้ เช่น ขุดคลอง ทำถนน เป็นต้น สมัครตนเป็นคนขอทาน เป็นการเอาเปรียบแก่คนอื่น ข้าพเจ้าขอเรียนถามว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะควบคุมคนขอทานบ้างหรือไม่


พล.ต.พระยาอมรวิสัยสรเดช
ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง
(รก. เล่ม ๕๗ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ หน้า ๑๔๐๑)
- -
กระทู้ถามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕

กระทู้ถามที่ ๔๐/๒๔๘๕
เรื่อง ให้รัฐบาลสงเคราะห์ผู้ไร้อาชีพ อุปการะคนทุพลภาพและเด็กไร้ที่พึ่ง

เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในยามบ้านเมืองคับขัน และช่วยเหลือราษฎรผู้ยากจนที่ไร้อาชีพ และทั้งรัฐบาลก็ได้แถลงนโยบายว่า "จะจัดการสงเคราะห์ผู้ไร้อาชีพให้มีงานทำ ตลอดจนอุปการะคนทุพพลภาพ ชรา และเด็กไร้ที่พึ่งด้วย" นั้น ขอทราบว่า

๑. การที่รัฐบาลได้สงเคราะห์ผู้ไร้อาชีพให้มีงานทำในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นั้น รัฐบาลได้ดำเนินด้วยวิธีการอย่างไร ราษฎรผู้ไร้อาชีพในจังหวัดนครราชสีมา รัฐบาลได้สำรวจแล้วหรือยัง รัฐบาลได้สงเคราะห์ราษฎรเหล่านี้ให้มีงานทำด้วยวิธีการชนิดไร

๒. การอุปการะคนทุพพลภาพ คนชรา และเด็กไร้ที่พึ่งนั้น รัฐบาลได้มีการอุปการะราษฎรเหล่านี้ ในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคอย่างไร ราษฎรเหล่านี้ในจังหวัดนครราชสีมา รัฐบาลได้ดำเนินการอุปการะอย่างไรหรือไม่


ร.ท. อู๊ด นิตยสุทธิ์
ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
(รก. เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๓ วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ หน้า ๑๘๗๙)

- -
กระทู้ถามเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗

กระทู้ถามที่ ๓๓๖/๒๔๘๗
เรื่อง การสงเคราะห์คนขอทาน คนทุพพลภาพ คนแก่ชรา

๑. รัฐบาลได้จัดการช่วยเหลือเกี่ยวกับคนขอทาน คนแก่ชรา คนทุพพลภาพให้ได้มีที่อยู่อาศัย และมีการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไรบ้างหรือไม่ขอทราบกรณีที่รัฐบาลได้จัดการไป แล้ว และท่จะดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ต่อไป

๒. ขณะนี้ปรากฏว่ามีขอทาน คนแก่ชรา และทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบการอาชีพอย่างอื่นได้เป็นจำนวนมากมายตามถนนหลวงทั่วไปทำไม รัฐบาลจึงยังไม่ช่วยเหลือจัดการอย่างใดกับบุคคลเหล่านี้

๓. รัฐบาลนี้มีนโยบายอย่างในเรื่องสงเคราะห์การอาชีพประชาชนอย่างไรบ้าง

นายผล แสนสระดี
ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น
(รก. เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๓๑ ง วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ หน้า ๗๙๑)




- -
กระทู้ถามเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓
กระทู้ถามที่ ๕๙๓ ร.

เรื่อง การแก้ปัญหาขอทาน

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม ถามนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
เนื่อง จากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้มีอาชีพขอทานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่ตาม แหล่งชุมชนขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ศูนย์การค้า และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญและเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศ ผู้ประกอบอาชีพนี้มีทั้งคนปกติ และผู้พิการ มีทั้งการขอทานที่กระทำไปด้วยความตั้งใจของเจ้าตัวเอง และมีขบวนการที่หากินกับขอทานโดยล่อลวงให้ผู้พิการหรือคนชรามาเป็นผู้ขอแล้ว มีผู้มาคยอรับคอยส่ง และแบ่งเงินให้กับขอทาน จึงเรียนถามว่า

๑. รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อให้อาชีพขอทานมีจำนวนน้อยลงอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

๒. มีการขึ้นทะเบียนอาชีพคนขอทานเพื่อให้การฝึกอาชีพ สงเคราะห์ และช่วยเหลือทางราชการหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

๓. รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ปัญหามิให้มีอาชีพขอทานในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา


เปรมศักดิ์ เพียยุระ
ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่
(รก. เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๑ ก วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๓ หน้า ๕๓)

- -
กระทู้ถามเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑
กระทู้ถามที่ ๑๘๗

เรื่อง ปัญหาคนเร่ร่อน จรจัดในกรุงเทพมหานคร

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังต่อไปนี้

คน เร่ร่อน จรจัดก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนในกรุงเทพมหานครอย่างมาก ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วัฒนธรรม การศึกษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน จรจัดในกรุงเทพมหานครอย่างจริงจังและชัดเจน เพราะคนเร่ร่อน จรจัดเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงขอเรียนถามว่า

๑. หน่วยงานใดบ้างที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล รวมถึงกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนเร่ร่อน จรจัด และได้ดำเนินการใดไปบ้างแล้ว ขอทราบรายละเอียด

๒. รัฐบาลมีมาตรการควบคุม แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับคนเร่ร่อน จรจัด หรือไม่ อย่างไร และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพียงใด ขอทราบรายละเอียด

๓. รัฐบาลมีนโยบายระยะยาวในการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน จรจัด ในกรุงเทพมหานครให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ขอทราบรายละเอียด


ขอให้ตอบในที่ประชุมสภา


เจิมมาศ จึงเลิศศิริ
ผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
กรุงเทพมหานคร
(รก. เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๓๘ ง วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ หน้า ๙๒)

ได้เห็นความสนใจ ท่าที และน้ำเสียงของถ้อยคำที่ถามกันแล้วว่าเป็นอย่างไร ลองอภิปรายกันดูนะครับ
บันทึกต่อไป ผมจะลองประมวลคำตอบของผู้เกี่ยวข้องที่ได้ตอบกระทู้เหล่านี้ว่าท่านตอบกันอย่างไร

และไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ถ้าชาวเราจะได้ช่วยกันร่วมอภิปรายเพื่อแสวงหาแนวทางและรูปแบบที่หลากหลาย

(ที่มา มงคล ยะภักดี นักสังคมสงเคราะห์)


คนรากหญ้ามีเสียงในสังคมจริงหรือ.....เป็น การย้อนดูว่าเคยมีคนกล่าวถึงเสียงสะท้อนในสภาเกี่ยวกลุ่มคน เร่ร่อน ไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง พิการ คนด้อยโอกาส แต่สุดท้ายการแก้ปัญหาของภาครัฐคือการที่ร่าง พรบ. เพื่อให้คนด้อยโอกาสเป็นขอทาน โดยตัวของพรบ.ขอทาน ยิ่งในมาตรา 8 ของพรบ.ขอทานนั้น เป็นมาตราที่ผู้เข้าร่วมประชุมขัดแย้งเป็นอย่างมาก คือ ลักษณะของคนที่จะแจ้งเป็นขอทาน คือ

1. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และไม่สามารถหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นได้ตามปกติ

2. เป็นผู้สูงอายุและไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู

3. เป็นผู้ไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่นใดเพราะเหตุแห่งสภาพทางกายหรือทางจิต

4. เป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ

ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่อไปในทางละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 52-57 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเนื้อหาที่กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสในมาตรา 52-55 ที่ระบุว่า ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ซึ่ง ในพระราชบัญญัติดังกล่าว นำบุคคลในมาตรา 52-55 มาให้อยู่ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ว่า เป็นกลุ่มบุคคลที่ รัฐ อนุญาตให้ ขอทาน

ในพรบ.ขอทาน ฉบับนี้ เห็นได้ว่าก่อน จะร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพระราช บัญญัติฉบับนี้ แต่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ก่อนจะร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ แต่กลับร่างพระราชบัญญัติก่อน แล้วจึงนำมาให้ประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการผิดขั้นตอน ซึ่งจะมีผลทำให้พระราบัญญัติฉบับนี้ต้องตกไปโดยปริยาย

และ ที่น่าเศร้ามากกว่านั้น คือในการอธิปรายเสวนาครั้งนี้วิทยากรยังใช้การเรียกคนเร่ร่อนไร้บ้านว่า คนเร่ร่อนจรจัด ซึ่งคำนี้ คำว่า “จรจัด” เลิกใช้มานานแล้ว และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้เรียกคน เพราะคำนี้เขาใช้เรียก สุนัข สุดท้ายชี้ให้เห็นว่า คนรากหญ้าจริง ๆ ไม่ได้รับรัฐสวัสดิการใด ๆ จากรัฐเลยแม้แต่น้อยไม่ว่าจะเป็น เงิน 2,000 บาท เพราะเป็นแรงงานนอกระบบบ้าง หลักฐานบัตรประชาชนหายไม่สามารถไปยืนได้ต่อใคร ใครก็ไม่สนใจเพราะเขาคนเร่ร่อนไม่มีพรรคมีพวกหรือมีเสียงใด ๆ เงินสวัสดิการผู้สูงอายุก็ไม่ได้รับ แม้ในสิ่งที่เล็กที่สุดคือการออกเสียงแสดงความต้องการในสิทธิความเป็นมนุษย์ เขายังไม่ได้รับหรือไม่มีสิทธิตามที่เขาควรมี

เขียนโดย : อัจฉรา อุดมศิลป์ ผู้ประสานงานฝ่ายเยาวชน

http://www.koomwimarndin.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=koomwimarndincom&thispage=1&No=1217003

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น